ใช้ Passion ทำงานมันเพียงพอจริง ๆ หรือ?
ผมเชื่อว่าเราน่าจะได้ยินเรื่องราวแรงบันดาลใจจากเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารมากมายถึงการทำงานโดยอาศัยความรัก ความลุ่มหลง ความเชื่อ หรือที่มักจะเรียกว่าหล่อ ๆ ว่า Passion มาเป็นแรงขับสำคัญในการทำงาน จนทำให้หลาย ๆ องค์กรเองก็มักจะเอาคำ Passion นี้แหละไปใส่ในวัฒนธรรมองค์กร ให้พนักงานท่องกันหรือพูดบิวท์กันบ่อย ๆ เวลาทำกิจกรรมพนักงาน
เรื่องราวที่มักจะพาให้เรารู้สึกตื่นเต้นกับการทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการใช้ความรักต่อสิ่งต่าง ๆ มาทำให้ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ สามารถทำงานได้มากกว่าที่ควรจะเป็น (ประเภททำครบ ๆ ไป) จนบางทีก็ไปจนถึงจุดที่บอกว่าสามารถใช้ Passion นี้ทำงานชนิดเกินเงินเดือน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำงานเกินเวลางานกันไปเลยทีเดียว
แต่เอาจริง ๆ แล้ว Passion มันเป็นแบบที่เขาพูดกันหล่อ ๆ บนเวทีจริงหรือ? มันเพียงพอที่จะทำให้คนทำงานได้มากกว่าปรกติจริง ๆ หรือ?
อาจจะฟังดูเหมือนมองแง่ลบอยู่เสียหน่อย แต่ส่วนตัวผมแล้ว ผมก็มักจะบอกว่า Passion ไม่ได้เพียงพอในการที่จะทำให้คนทำงานขนาดนั้นหรอกครับ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการด้วยแล้ว
ที่บอกอย่างนี้ เพราะถ้าเป็นเจ้าของกิจการ เป็นคนริเริ่มธุรกิจแล้ว มันก็คงไม่แปลกที่เขาจะมี Passion กับสิ่งที่กำลังทำ ตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายเอาอนาคตตัวเองมาวัดใจกับธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าพอเป็นธุรกิจของเขาเองแล้ว ความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจการผนวกกับ Passion นั้นยิ่งทำให้ความตั้งใจในการทำงานย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดาจนไม่แปลกที่เรามักจะเห็นบรรดา Founder ของกิจการต่าง ๆ มักทำงานกันแบบไม่ได้หยุดหย่อน ทำกันชนิดสงสัยว่าเอาเวลาไปไหนนอน เป็นต้น
แต่ถ้าเรามองกลับมาถึงพนักงานทั่ว ๆ ไปล่ะ? เขาจะรู้สึก “เป็นเจ้าของ” แบบเดียวกับ Founder ไหม? ก็คงจะไม่ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมบอกเสมอว่าพนักงานนั้นยากที่จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของแบบที่เจ้าของกิจการมักพูดปลุกใจหรือคาดหวังให้พนักงานเป็น เพราะท้ายที่สุดเขาก็ยังไม่ใช่แม้แต่ผู้ถือหุ้นบริษัทเลยด้วยซ้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น แรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่งก็หายไปเรียบร้อยแล้ว
มาฝั่ง Passion ที่เราคาดหวังให้พนักงานมีนั้น แน่นอนว่ามันก็คงมีในตัวพนักงานนั่นแหละ แต่ด้วยการที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของอะไร การอยู่ในสถานะ “ผู้ถูกจ้าง” มันก็ให้ความรู้สึกไปคนละทาง ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องของการถูกจ้างก็คือการคาดหวังในผลตอบแทนที่ต้องเพียงพอ สนองความต้องการพื้นฐานได้
หรือพูดง่าย ๆ คือถ้ามี Passion แต่ไม่ได้เงิน ทำงานแล้วไม่ได้ค่าตอบแทน มันก็คงจะยากมากที่จะมีพนักงานคนไหนยอมทนอยู่
ถ้าเรามองเป็นสมการแบบง่าย ๆ แล้ว เราก็อาจจะสรุปว่า
“ความพึงพอใจที่จะทำงานต่อ = ปัจจัยหนุนให้ทำงานต่อ – ปัจจัยลบให้อยากเปลี่ยนงาน”
ทั้งนี้ บรรดา Passion ค่าตอบแทนต่างที่ดี สวัสดิการต่าง ๆ ก็คืออยู่ในปัจจัยหนุนให้อยากทำงานต่อ ในขณะที่ความหงุดหงิดจากการทำงาน ความลำบาก ปัญหาในการทำงาน ความไม่พอใจต่าง ๆ เช่นเรื่องค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า ก็จะนับเป็นปัจจัยลบนั่นเอง
เมื่อเรามองแบบนี้ จะเห็นว่าการจะให้ลูกจ้างนั้นทำงานได้ดี มันก็ต้องทำให้ปัจจัยหนุนมีมากกว่าปัจจัยลบ ถ้าเกิดสมมติเราอุตริคิดว่าพนักงานมี Passion ก็เพียงพอแล้ว โดยที่ไม่ได้ไปสนใจเรื่องสภาพแวดล้อมที่ทำงาน ความหงุดหงิดต่าง ๆ รวมถึงค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล มันก็ย่อมพลิกให้สมการนี้กลายเป็นลบ และพนักงานก็คงไม่เลือกจะอยู่ต่อเป็นแน่
อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดช่องว่างของปัจจัยสองแบบไม่ได้ห่างกันมากนั้น การมี Passion ก็อาจจะเอาไปทดแทนบางอย่างได้อยู่ เช่นแม้รายได้ไม่เยอะมาก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับขัดสน การมี Passion ก็ทำให้รู้สึกว่างานโอเค ยังทำต่อไปได้ แม้จะมีงานที่เงินดีเป้นตัวเลือกก็อาจจะไม่ได้คิดว่าคุ้มค่าอะไรกับการเปลี่ยนงาน เป็นต้น
ที่เล่าเช่นนี้ ก็อยากให้เป็นแง่คิดกับบรรดาผู้บริหาร เจ้าของกิจการต่างๆ ว่าอย่าไปหลงกับคำว่า Passion มากนัก เพราะมันไม่ใช่ทุกอย่างของพนักงานเราเสมอไป ต่อให้เราจะไปสร้าง Passion มากขนาดไหนแต่ถ้าปัจจัยลบมันเยอะกว่าแล้ว “ใจ” ที่เราบอกว่าเป็นหัวใจสำคัญก็อาจจะไม่เพียงพอ
และถึงตอนนั้น ก็คงไม่มีใคร “อยู่ด้วยใจ” กันแล้วล่ะครับ
Comments