ไขข้อข้องใจวิธีการคัดสรรโพสต์ขึ้นมาบน News Feed อธิบายโดย Facebook เอง
เรื่องการปรับ Algorithm ของ News Feed จนทำให้โพสต์ต่างๆ ของ Facebook Page ถูกเห็นน้อยลงนั้นกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์อยู่พอสมควรจากบรรดาผู้ทำเพจต่างๆ เนื่องจากส่งผลพอสมควรกับค่าอื่นๆ ตามมาเช่นค่า Engagement เป็นต้น และนั่นทำให้เรื่องราวของ News Feed กลายเป็นสิ่งที่ผู้ดูแลเพจอยากได้คำอธิบายจาก Facebook พอสมควร
ล่าสุดทาง TechCruch ก็ได้มีการสัมภาษณ์หัวหน้าทีมที่ดูแลเรื่อง News Feed ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีคิดของ Facebook เพื่อทำการคัดสรรโพสต์ต่างๆ ให้ถูกนำเสนอบนหน้า News Feed ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเป็นข้อมูลที่นักการตลาดดิจิทัลควรรู้พอสมควร เลยขอแปลและเรียบเรียงบางส่วนมาอธิบายแล้วกันนะครับ
ปัญหาของการคัดเลือกโพสต์มาขึ้น News Feed
แม้ว่าผู้ใช้งาน Facebook จะมีการกดไลค์เพจต่างๆ เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกับการเพิ่มเพื่อนที่รู้จัก อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่แปลว่าพวกเขาจะมีเวลาในการอ่าน News Feed เพิ่มขึ้นแต่อย่างไร ซึ่ง Facebook อธิบายว่าโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีโพสต์ที่สามารถขึ้นบนหน้า News Feed ได้ราวๆ 1,500 โพสต์ในแต่ละวัน แต่ถ้าคนที่มีเครือข่ายเยอะๆ แล้วอาจจะมีมากถึง 15,000 โพสต์เลยทีเดียว ซึ่งนั่นเป็นตัวเลขที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอ่านทั้งหมดได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าเราเทียบให้ทั้งเพื่อนและเพจมีความเท่าเทียมกันแล้วนั้น มันจึงเป็นเรื่องปรกติที่จำนวน % ของคนที่เห็นโพสต์ของเพื่อนหรือเพจนั้นย่อมลดลงตามไป ซึ่งนั่นก็เห็นได้จากสถิติของ EdgeRank Checker ที่เทียบโพสต์จากกว่า 1,000 เพจที่เห็นได้ว่า Organic Reach ลดลงอย่างต่อเนื่อง
กุมภาพันธ์ 2012 – 16%
กันยายน 2013 – 12.60%
พฤศจิกายน 2013 – 10.15%
ธันวาคม 2013 – 7.83%
มีนาคม 2014 -6.15%
ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า Organic Reach นั้นตกลงไปมากกว่า 50% ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว Facebook ไม่ได้ให้ความสำคัญของทุกโพสต์เท่ากันแต่อย่างใด หากแต่พยายามคิดว่าโพสต์ไหนที่มีคนเข้าไปปฏิสัมพันธ์มากที่สุด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้คนยังอยากกลับเข้ามาเล่น Facebook อยู่โดยไม่เบื่อไปเสียก่อน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อ Facebook เองก็ต้องคิดในเรื่องการทำรายได้จากโฆษณาไปในตัวด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีการของ Facebook คือการไม่เลือกที่จะแสดงโพสต์จากทุกๆ คนหรือจากทุกๆ เพจที่ไปติดตาม (ซึ่งเป็นวิธีที่สวนทางกับ Twitter หรือ Instagram)
วิธีการที่ Facebook จัดการกับ News Feed
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว Facebook จึงสร้าง Algorithm หรือที่เราเคยเรียกกันแต่ก่อนว่า EdgeRank ในการวิเคราะห์ว่าโพสต์ไหนที่น่าจะถูกดึงออกมาแสดงบนหน้า News Feed ซึ่งก็เคยมีการเผยว่าใช้ค่าต่างๆ มาประมวลกว่า 100,000 อย่างด้วยกัน (หลายๆ คนก็อาจจะสงสัยเหมือนกันว่ามันมีเยอะขนาดนั้นเลยหรือ)
ในเรื่องนี้ Will Cathcart ซึ่งเป็น News Feed Director ของ Facebook ตอบคำถามของ TechCrunch โดยอธิบายปัจจัยหลักๆ เป็น 5 อย่างคือ
โพสต์ก่อนหน้านี้ของคนที่โพสต์ได้รับความนิยมแค่ไหนกับทุกๆ คน (วัดจาก Like Comment Share และ Click)
โพสต์ดังกล่าวได้รับการตอบสนองมากแค่ไหนจากคนที่เห็นโพสต์ไปแล้ว
โพสต์ก่อนหน้าของผู้โพสต์ได้รับความนิยมแค่ไหนกับคนที่เห็น
โพสต์ดังกล่าวอยู่ในรูปแบบไหน(Status / Photo / Video / Link) โดยเชื่อมกับประเภทของโพสต์ที่ผู้อ่านชื่นชอบก่อนหน้านี้
โพสต์ดังกล่าวเพิ่งโพสต์ไปนานแค่ไหน
5 อย่างนี้น่าจะเป็นตัวแปรหลักสำคัญประกอบกับตัวแปรอื่นๆ อีกมากมาย
Cathcart อธิบายเพิ่มเติมว่าในผู้ใช้แต่ละคนนั้น Facebook จะมีการให้คะแนนกับทุกๆ โพสต์ที่ผู้ใช้จะเห็น ซึ่ง Facebook จะพยายามวิเคราะห์ให้ได้ว่ามากที่สุดว่าอะไรคือสิ่งที่คนอยากเห็นบนหน้า News Feed บ้าง
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ จึงไม่แปลกที่โพสต์ที่สร้าง Like Comment Share และ Click ได้มากก็จะเพิ่ม Reach ตามไป แต่ถ้าคนไม่สนใจและเลื่อนผ่านไป Reach ก็จะลดลงตามไป
และแน่นอนว่าวิธีในการที่จะเอาชนะเงื่อนไขของ News Feed ก็คือการซื้อโฆษณาซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนพอจะรู้กัน (และอาจจะแอบเซ็งๆ อยู่เช่นกัน)
เรียบเรียงและแปลบางส่วนจาก TechCruch
Thanks for the informative article. Unogeeks is the top Data Science Training Institute in Hyderabad, which provides the best Data Science Training